ไหว้สาเจ้าพ่อกว้าน


เจ้าพ่อกว้าน เป็นเจ้าพ่อศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำปาง ความสำคัญของเจ้าพ่อกว้านคงพอ ๆ กับเจ้าพ่อหลักเมือง ทั้งนี้สันนิษฐานจากการเซ่นสังเวยทุกครั้งที่มีการสังเวยเจ้าพ่อหลักเมือง จะต้องแบ่งครึ่งหนึ่งของเครื่องเซ่นไปสังเวยเจ้าพ่อกว้านเสมอ ในอดีตเมื่อเกิดศึกสงคราม ทหารจะออกรบหรือเมื่อตำรวจตามจับผู้ร้ายสำคัญ จะต้องไปบวงสรวงเจ้าพ่อกว้านเสียก่อน เครื่องเซ่นมี หมูดำปลอด ๑ ตัว ไก่คู่ ตีนหมู (สี่ตัว) วัวกีบผึ้ง หางไหม ๑ ตัว สมัยก่อนไม่มีที่นั่ง(ม้าขี่คนทรง) การบวงสรวงตกเป็นของลุงแก่ ๆ คนหนึ่ง ชื่อลุงแสน ภวังค์ ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อนั้น เป็นที่นับถือตั้งแต่เจ้าผู้ครองนคร ลงมาจนถึงราษฎร ทุก ๆ ปีจะมีการบวงสรวงเซ่นไหว้เป็นประจำในเดือน ๙ เหนือ แรม ๕ ค่ำ ไม่มีการเชิญเข้าทรงและฟ้อนผีดังเช่นปัจจุบัน (“เหลนน้อย” เล่าไว้ในหนังสือที่ระลึกวันครบรอบ ๖๐ ปี บุญวาทย์)

ศาลเจ้าพ่อกว้าน เดิมตั้งอยู่หลังบ้านพักผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ถนนบุญวาทย์ สมัยโบราณเมื่อมีคดีความที่จะต้องพิพากษาตัดสินก่อนจะให้การต่อศาล คู่กรณีต้องไปสาบานต่อหน้าหอเล็ก ๆ แห่งหนึ่งใกล้ ๆ กับศาลนั้นว่าจะให้การตามความเป็นจริง หอเล็กๆ ที่กล่าวถึงเป็นที่สิงสถิตเจ้าพ่อกว้าน ต่อมามีการสร้างศาลยุติธรรมขึ้นใหม่ จึงได้รื้อศาลเจ้าพ่อกว้านหลังเดิมมาสร้างขึ้นใหม่ในบริเวณโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย

ทุกครั้งที่มีงานสำคัญหรือมีกิจกรรมของโรงเรียนครูและนักเรียนบุญวาทย์ฯ จะไปบอกกล่าวขอความคุ้มครอง ขอกำลังใจจากเจ้าพ่อกว้าน ไม่ว่าโลกแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเจริญก้าวหน้าไปเพียงใด “เจ้าพ่อกว้าน” ก็ยังเป็นมิ่งขวัญและที่ยึดเหนี่ยวทางใจของลูกบุญวาทย์ตลอดไป