แรงงานไทยที่ถูกลืมในอิสราเอล

คนไทยหอบฝันไปขายแรงงานในต่างแดน แต่ถูกเอาเปรียบ และละเมิดสิทธิ์ บางรายกลับบ้านในสภาพหมดลมหายใจ
รายงานข่าวสืบสวนสอบสวนของบีบีซีไทย พบเรื่องราวการถูก
เอาเปรียบ และละเมิดสิทธิ์

แรงงานหลายคนบอกเราว่าได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด สภาพการทำงานไม่ตรงตามสัญญา
และมีสภาพที่อยู่อาศัยที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

ในรอบ 6 ปี แรงงานไทยเสียชีวิตกว่า 170 คน
“หวัดดีคับพี่ มากินข่าวนำกัน แนวกินบ่านเฮาคุย่างเลยพี่”

“หวัดดีคับพี่ มากินข่าวนำกัน แนวกินบ่านเฮาคุย่างเลยพี่”

นี่คือประโยคทักทายและชวนทานข้าวที่ได้ยินแทบทุกครั้งที่ฉันเดินดุ่ม เข้าไปในที่พักของแรงงานไทยตั้งแต่เหนือจรดใต้ของอิสราเอล แรงงานเหล่านี้พักอาศัยอยู่ในโมชาฟ ซึ่งหมายถึงชุมชนเกษตร โมชาฟมีลักษณะไม่ต่างจากหมู่บ้าน ประตูทางเข้าเป็นรั้วสีเหลืองหรือสีขาว ภายในโมชาฟมีต้นไม้ปลูกเรียงราย บ้านพักของเกษตรกรหลายสิบหลังดูน่าอยู่ มองจากถนนใหญ่ดูไม่ต่างจากแดนสวรรค์อันรื่นรมย์ แต่เพียงผ่านพ้นพุ่มไม้เขียวขจี ดงตะบองเพชรอวบใหญ่ สิ่งที่เห็นกลับมักจะเป็นตรงกันข้าม

ในช่วงปีที่ผ่านมา ฉันเดินทางเข้าออกอิสราเอลหลายครั้ง และได้เข้าไปยังฟาร์มกว่า 50 แห่ง ในโมชาฟต่าง ๆ ได้คุยกับคนงานไทยหลายร้อยคน เพื่อรับรู้เรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับพวกเขาหลายต่อหลายคน ในดินแดนแห่งความหวังนี้ แรงงานหลายคนปรับทุกข์ให้ฟังว่า พวกเขามีชั่วโมงการทำงานยาวนาน (เกินกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน) ต้องอยู่ในที่พักซอมซ่อไม่ต่างจากสลัม ต้องฉีดยาฆ่าแมลง โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่ดีพอ

มั่นใจเพราะเป็นโครงการของรัฐบาล

ด้วยความหวังที่จะหลีกหนีความยากจนไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ทุก ๆ ปี จะมีแรงงานไทยราว 5,000 คน สมัครไปทำงานด้านเกษตรตามโครงการความร่วมมือไทย - อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (Thailand - Israel Cooperation on the Placement of Workers หรือ TIC) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2012 จนถึงปัจจุบันมีแรงงานไทยอยู่ในอิสราเอลกว่า 25,000 คน

อิสราเอลเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกผักและผลไม้ไปในหลายภูมิภาคของโลก มีผลิตผลวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งในยุโรปและรัสเซีย แต่แรงงานที่ทำงานในภาคเกษตรส่วนใหญ่คือคนไทย

แรงงานทุกคนที่ฉันได้คุยด้วยบอกว่าการไปทำงานในอิสราเอลภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทำให้พวกเขา “มั่นใจ” พวกเขาบอกฉันว่าแรงานไทยถูกเอารัดเอาเปรียบและละเมิดสิทธิ์ในหลายประเทศ แต่โครงการ TIC ทำให้เขาอุ่นใจได้เพราะเป็นโครงการที่รัฐบาลดูแล จึงไม่น่าจะมีอะไรที่เป็นปัญหา

แต่แรงงานคนหนึ่งบอกฉันเป็นภาษาอีสานว่า "ตั้งแต่ก้าวเข่ามาเฮ่ดงานในฟาร์ม กะฮุ่แล่วว่าเฮาต้องเป็นทาสเขา"

"ขอไปตายที่บ้านดีกว่าตายที่นี่"

ตุ๋ย (นามสมมุติ) แรงงานไทยคนหนึ่งบอกเราว่าเขาเคยต้องล้มหมอนนอนเสื่อนานถึง 9 วัน หลังรับหน้าที่ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงวันละประมาณ 10 ชั่วโมง อยู่นานนับเดือน

“ผมมาล้มป่วยเอาทีเดียวเลย ปวดหัว ได้กลิ่นอะไรไม่ได้เลย ผมไปหาหมอ 3 ครั้ง …หลังจากนั้นนายจ้างก็ไม่ได้ให้ผมฉีดยาฆ่าแมลงอีกเลยผมเลยละฉีด” ตุ๋ยซึ่งมีใบหน้าดูเหนื่อยอ่อน ก้มศีรษะมองพื้น และพูดด้วยเสียงแผ่วเบาตลอดเวลาที่คุยกัน

เขาบอกว่านายจ้างพาไปรักษาที่คลินิก แต่คลินิกตัดสินใจส่งตัวเขาไปยังโรงพยาบาลใหญ่ไม่ห่างจากเมืองอาชเคลอน (Ashkelon) เขาบอกว่าที่นั่นหมอฉีดยาให้ 1 เข็ม เขาไม่รู้ว่าเป็นยาอะไร รู้เพียงว่ามันทำให้รู้สึกดีขึ้นทันตาเห็น

จากนั้นเขาก็เลิกฉีดยาฆ่าแมลง แต่ขอให้มานพ (นามสมมุติ) เพื่อนร่วมงานอีกคนรับช่วงต่อ มานพรับหน้าที่นี้ได้ประมาณ 6 เดือน เขาบอกว่าจากนั้นเขาก็เริ่มมีอาการตาฝ้าฟาง มองอะไรไม่ชัด

“ผมมองสีเขียว มันไม่ชัด มันกลายเป็นเขียวซีด ๆ ผมปวดหัว และเป็นไข้บ่อย ๆ มันมีอะไรผิดปกติในร่างกายผม ผมขอให้นายจ้างพาไปหาหมอ แต่เขาไม่พาผมไป” มานพบอก

ผ้าปิดปากของมานพ

ผ้าปิดปากของมานพ

จากนั้นงานนี้ก็ถูกส่งต่อไปให้เพื่อนของเขาอีกคน มานพบอกว่าเขาไม่อยากเอาชีวิตมาเสี่ยงกับเงินที่ได้พิเศษจากการฉีดยาฆ่าแมลง

ส่วนตุ๋ยบอกฉันด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ ว่า “ผมเลิกฉีดยาฆ่าแมลงเพราะคิดว่าขอไปตายที่บ้านดีกว่าตายที่นี่”

แล้วดูแลตัวเองกันยังไง นายจ้างไม่ได้ให้อุปกรณ์ป้องกันเลยหรือ? ฉันถาม มานพบอกว่านายจ้างให้เสื้อกันฝนและหน้ากากบาง ๆ เหมือนที่แพทย์ใช้กัน เขาบอกพร้อมยื่นผ้าปิดปากแผ่นบางที่เขาใช้ปิดปากและจมูกตอนฉีดยาฆ่าแมลงให้ดู

แรงงานไทยคนอื่น ๆ ที่ฉันได้พบต่างก็หวั่นเกรงผลกระทบจากการฉีดยาฆ่าแมลงเป็นประจำ และอิสราเอลก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้ยาฆ่าแมลงมากที่สุดในโลก

การสัมผัสยาฆ่าแมลงเป็นประจำส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและระบบประสาท ดังนั้นอิสราเอลจึงมีกฎระเบียบควบคุมอย่างเคร่งครัด แรงงานที่ต้องฉีดยาฆ่าแมลงจะต้องมีเสื้อคลุม หน้ากากที่มีเครื่องกรอง รองเท้าบู๊ตและถุงมือ

"ที่ผมต้องมาทำงานแบบนี้ เพราะเราไม่ได้เกิดมารวย”

เรื่องการไม่จัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายอย่างเพียงพอในการทำงานเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของปัญหาที่แรงงานไทยต้องก้มหน้ายอมรับสภาพ แต่ปัญหาอื่น ๆ ที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญกว่า คือเรื่องการไม่จ่ายเงินเดือนค่าจ้างตามกฎหมายกำหนด ปัจจุบันอิสราเอลกำหนดค่าแรงขั้นต่ำชั่วโมงละ 29.12 เชเกล (ประมาณ 264 บาท) หรือ 5,300 เชเกล (ประมาณ 47,900 บาท) ต่อเดือน จากการทำงานสูงสุดไม่เกิน 182 ชั่วโมงต่อเดือน

แรงงานหลายคนที่ฉันคุยด้วยพูดตรงกันว่า พวกเขาทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน ในโมชาฟบางแห่ง แรงงานไทยต้องทำงานแทบทุกวัน ตลอดทั้งปี มีวันหยุดพักเพียง 5-6 วันเท่านั้น อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานอิสราเอลบอกเราว่ามีการเข้าไปตรวจสอบฟาร์มต่าง ๆ ดูสลิปเงินเดือนและชั่วโมงการทำงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแรงงานได้มีวันหยุดพัก

ยศ (นามสมมุติ) เป็นแรงงานอีกคนที่ฉันได้คุยด้วย เขาเคยทำงานที่ฟาร์มวัวและสวนพริกในโมชาฟพาราน เขาเล่าว่าต้องตื่นเพื่อเตรียมตัวไปทำงานตั้งแต่หกโมงเช้า โดยงานเริ่มตั้งแต่หกโมงครึ่ง เขาทานข้าวเช้าตอนเก้าโมง และทำงานต่อ ก่อนจะกลับไปยังที่พักในเวลาประมาณบ่ายสองโมง จากนั้นสี่โมงเย็น เขาต้องลงมือบรรจุพริก ทำไปเรื่อยจนถึงสามทุ่ม แล้วถึงได้กลับมาหุงหาอาหาร ทานข้าวเย็นเสร็จราวสี่ทุ่มหรือห้าทุ่ม แล้วจึงได้เข้านอน และต้องตื่นอีกทีในช่วงเช้าตรู่อีกวัน

“เราฝันมาเยอะ ฝันว่าจะได้เงินเดือนละหกหรือเจ็ดหมื่นบาท แต่เอาเข้าจริงผมส่งเงินกลับบ้านได้แค่สอง-สามหมื่นบาท”

“ที่ผมต้องมาทำงานแบบนี้เพราะเราไม่ได้เกิดมารวย…และผมก็ไม่อยากให้ลูกต้องทำงานหนักแบบนี้ อยากให้เขาได้มีการศึกษา”

ฉันได้ขอสัมภาษณ์นายจ้างของยศ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

ห้องนอนกล่องกระดาษ

ฉันเข้าไปที่โมชาฟหลายสิบแห่งในอิสราเอล ได้เห็นว่าที่พักของแรงงานไทยในโมชาฟส่วนใหญ่มีสภาพแย่มาก แต่ที่หนักหนาสาหัสที่สุดแห่งหนึ่งที่ฉันเห็นคือที่โมชาฟอามิออสทางใต้ของอิสราเอล

แรงงานถูกจัดให้นอนในโกดังโล่งมืด แสงสว่างที่ลอดเข้ามาได้ มีเพียงจากช่องหน้าต่างสามบานตรงสุดโกดัง แรงงานต้องเอากล่องกระดาษแข็งมากั้นแบ่งเป็นฝาห้องเพื่อความเป็นส่วนตัว เสื้อผ้าข้าวของวางแขวนระเกะระกะอยู่กลางโกดังที่มีสายไฟห้อยระโยงระยางดูน่าอันตราย สภาพอากาศภายในโกดังร้อนอบอ้าว ห้องครัวสองแห่งที่ตั้งอยู่หน้าโกดังมีอุปกรณ์หุงหาอาหารที่เก่าโทรม สกปรก ยากเกินกว่าจะทำความสะอาดให้ดูดีขึ้นมาได้

ตอนที่ฉันไปที่โมชาฟอามิออสเมื่อ เดือนตุลาคม 2017 แรงงานพากันหยุดงานประท้วง ไม่ใช่เรียกร้องเรื่องที่พัก แต่เป็นเรื่องที่นายจ้างไม่จ่ายเงินเดือนให้ 2 เดือน ทนายความของนายจ้างที่นี่บอกว่านายจ้างกำลังจะล้มละลาย ฉันติดต่อขอสัมภาษณ์เขาแต่ไม่ได้รับคำตอบ ตอนนั้นสถานทูตไทยเดินทางไปไกล่เกลี่ยและรับจะจัดการปัญหาให้

ฉันกลับไปที่อามิออสอีกครั้งในเดือนเดียวกันของปีนี้ (2018) และพบว่าแรงงานไทยยังอยู่ในสภาพเดิม ฉันขอสัมภาษณ์นายจ้างอีกครั้ง แต่ไม่ได้รับคำตอบ ส่วนแรงงานที่เคยไม่ได้รับค่าจ้างนั้นท้ายที่สุดแล้วพวกเขาได้รับเงินที่ค้าง แต่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง

ฉันหยิบยกเรื่องของแรงงานใน “ห้องกล่องกระดาษ” ไปถามนายอาฟชาโลม วิลาน แห่งสมาพันธ์เกษตรกรของอิสราเอล ที่ยอมรับว่า เขารู้สึกช็อก และยืนยันว่าสมาคมฯ ไม่ยินยอมให้ชาวนาอิสราเอลกระทำการอันผิดกฎหมายและไร้มนุษยธรรมเช่นนี้ได้ เขาสนับสนุนให้แรงงานไทยร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือโดยไม่แสวงหากำไร (เอ็นจีโอ)

ขณะที่กระทรวงแรงงานอิสราเอลบอกว่าทุก ๆ ปีมีการส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่และการทำงานของแรงงานไทยในโมชาฟต่าง ๆ และมีล่ามพร้อม โดยนับตั้งแต่ปี 2013 มีการสืบสวนกรณีที่เกี่ยวข้องกับค่าจ้างและชั่วโมงการทำงานไปแล้ว 1,500 กรณี และในรอบ 5 ปีมีการออกคำเตือนไปยังนายจ้าง 3,000 ครั้ง และมีการสั่งปรับ 200 ครั้ง

นายอาฟชาโลม วิลาน แห่งสมาพันธ์เกษตรกรอิสราเอล

นายอาฟชาโลม วิลาน แห่งสมาพันธ์เกษตรกรอิสราเอล

"คอกหมาอาจจะดูดีเสียกว่า"

สมเกียรติ ศรีสวัสดิ์ หรือนิค ชายหนุ่มวัย 29 ปี จากขอนแก่น เป็นแรงงานอีกคนที่ฉันได้พบ เขาทำงานอยู่ที่ฟาร์มในโมชาฟทิคุมา ใกล้ฉนวนกาซา มีแรงงานไทยราว 15 คน อาศัยอยู่ในที่พักที่ดูไม่ต่างจากแคมป์คนงานก่อสร้าง

นิครู้สึกผิดหวังกับการไปทำงานที่อิสราเอลแต่ไม่มีทางเลือกอื่น เขาบอกว่าที่อยู่ของเขาไม่เหมาะแม้จะให้สุนัขอยู่

"คอกหมาอาจจะดูดีเสียกว่า" เขาบอก

ในห้องนอนของนิคนั้น ทั้งฝาผนังและเพดาน ผุรั่ว เขาบอกว่า
“ข้างในมีหนูร้องเสียงดังเวลานอนตอนกลางคืน ฝ้าเพดานก็รั่ว เวลาฝนตก น้ำหยดลงมา ต้องเอาอะไรมารองครับ”

นิคบอกว่า เขาทำงานหนักและเหนื่อยจนแทบหมดแรง กลับจากทำงานในช่วงค่ำ ก็ต้องมาอยู่ในที่พักที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม เขากังวลว่าห้องพักที่อาศัยอยู่นี้อาจจะพังครืนลงมาในวันใดวันหนึ่ง

ฉันติดต่อขอสัมภาษณ์เจ้าของฟาร์มที่เป็นนายจ้างของนิคแต่เขาไม่ให้สัมภาษณ์ ฉันได้รู้มาว่าที่พักของนิคดีขึ้นแล้ว

ฉันได้เข้าไปที่โมชาฟทิคุมาอีกครั้งในปีนี้ (2018) และเจ้าของฟาร์มบอกว่าตั้งแต่บีบีซีไทยไปที่ฟาร์มของเขาครั้งก่อน เขาได้ปรับปรุงที่อยู่ของแรงงานให้ดีขึ้นแล้ว

แต่ที่พักของแรงงานไทยที่โมชาฟอะมิออสนั้น ยังคงเหมือนเดิม แรงงานยังต้องนอนในห้องที่แบ่งกันด้วยกล่องกระดาษแข็ง พวกเขาได้รับค่าแรง แต่ล่าช้าประมาณ 9-10 วัน

"คนไทยต่างหากที่ไม่ดูแลที่พักตัวเอง"

แรงงานไทยได้รับอนุญาตให้ทำงานในอิสราเอลสูงสุดไม่เกิน 5 ปี และตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่น พวกเขาควรได้รับทั้งความสะดวกและปลอดภัย โดยคู่มือแรงงานระบุว่าแรงงานจะต้องมีที่พักขนาดกว้างอย่างน้อย 4 ตารางเมตร มีตู้เสื้อผ้าส่วนตัว มีที่นอน มีเครื่องทำความอุ่น มีระบบระบายอากาศ มีแสงไฟเพียงพอ ฯลฯ แต่ในฟาร์มหลายแห่งที่เราเข้าไปฉันไม่ได้เห็นตัวอย่างที่ดีมากนัก แต่มีบ้างเหมือนกันที่เจ้าของฟาร์มพยายามทำที่พักให้ได้มาตรฐาน

รูบี้ ชคุกทัย เจ้าของสวนอินทผาลัม ในโมชาฟโซฟาร์ในเขตอาราว่า ทางตอนกลางของอิสราเอล พาฉันไปดูที่พักที่เขาสร้างให้คนงานไทยสองคนของเขา ที่อยู่ดูแข็งแรง ไม่ผุ ไม่รั่ว มีห้องครัว ห้องน้ำแยกต่างหาก แต่รูบี้บอกว่า

“สิ่งที่ผมเห็นทั้งที่นี่และที่อื่น ๆ ก็คือ ที่พักอยู่ในสภาพดีมากเลย ตอนแรก ๆ แต่เพียงสามเดือนก็กลายเป็นหายนะ นี่ไม่ใช่เพราะเกษตรกร (นายจ้าง) แต่เป็นคนงานเอง คนงานต้องใส่ใจที่หลับที่นอนของตัวเอง แต่พวกเขาไม่ใส่ใจ ดูห้องครัวสิผมพาไปดูแล้วไง น่าขยะแขยง”

นายจ้างชาวอิสราเอลบางคนที่ยอมพูดคุยกับฉันบอกว่าปัญหาอยู่ที่แรงงานไทยเองที่มีนิสัยไม่รักสะอาด แม้จะซ่อมสร้างที่อยู่อาศัยให้ใหม่ แต่ไม่นานก็กลับมาสกปรกเหมือนเดิมพวกเขาไม่ยอมรับว่าแรงงานไทยถูกเอารัดเอาเปรียบและยืนยันว่า ทุกคนได้รับค่าแรงตามกฎหมายกำหนด นายจ้างอิสราเอลบอกด้วยว่าคนไทยไม่ชอบสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายขณะทำงาน ไม่สวมหน้ากากหรือชุดป้องกัน และบางคนยังชอบดื่มสุรา และใช้สารเสพติดด้วย

บรรยากาศแห่งความกลัว

ในระหว่างการรวบรวมรายงานชิ้นนี้ ฉันรับรู้ถึงบรรยากาศแห่งความกลัวที่เกิดขึ้นในหมู่คนงานในการบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง

“อันนี่มันกะเว่ายากยุ บ่ก้าเว่าย่านถืกเจ้านายเพิ่นย้ายงาน” แรงงานคนหนึ่งบอก ส่วนใครที่กล้าพูดก็ขอให้ปกปิดตัวตนที่แท้จริง

ถึงขณะนี้หลายคนคงสงสัยว่าทำไมแรงงานไทยถึงไม่เรียกร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ขององค์กรช่วยเหลืออย่างคาฟลาโอเวด (KavLaOved) บอกว่าแรงงานไทยอยู่ในสภาพหวาดกลัวการถูกย้ายงาน

ตอนที่ฉันเดินทางไปที่โมชาฟหลายแห่ง เคยพบกับเหตุการณ์ที่เกษตรกรหรือนายจ้างห้ามไม่ให้แรงงานมาพูดคุยด้วยและมีอยู่ครั้งหนึ่งที่นายจ้างขู่ว่า “จะส่งคนมาหักกระดูก” หากฉันไม่ออกไปจากอิดาน โมชาฟทางใต้ของอิสราเอล

แล้วหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลคนไทยอย่างสถานทูตไทยไม่อาจช่วยเหลือแรงงานไทยได้เลยหรือ นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานทูตไทยในอิสราเอล ตอบคำถามนี้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าไปจัดการ

“สถานทูต ฝ่ายแรงงาน ทำอะไรนายจ้างไม่ได้เลยเหมือนทูตแรงงานพม่า (เมียนมา) ที่ทำอะไรนายจ้างในไทยไม่ได้ เราเข้าใจสภาพปัญหา แต่ทำอะไรไม่ได้ หากจะขอความช่วยเหลือจากตำรวจก็ไม่ได้ผล เพราะเป็นพวกเดียวกับนายจ้าง ยังไงเขาก็ช่วยคนอิสราเอลด้วยกัน”

ส่วนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) ซึ่งทำหน้าที่คัดเลือกและช่วยเหลือในการจัดส่งแรงงานไทยไปอิสราเอล ระบุผ่านแถลงการณ์ทางอีเมลว่า "เป็นห่วงอย่างยิ่ง" ในสิ่งที่บีบีซีพบว่าในหมู่แรงงานไทยกว่า 20,000 คน ที่ทำงานเกษตรอยู่ในอิสราเอลในขณะนี้ มีบางส่วนที่ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ

ไอโอเอ็มสนับสนุนให้ปกป้องสิทธิของคนงานต่างถิ่นทุกคน ที่ควรจะได้รับการคุ้มครองไม่ต่างจากคนท้องถิ่นภายใต้กฎหมายที่กำหนด รวมทั้งการช่วยเหลือให้ได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

ไอโอเอ็มจะติดตามเรื่องนี้กับรัฐบาลของทั้งสองประเทศและฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสืบสวนเรื่องนี้ต่อไป และให้การชดเชยหากมีความเหมาะสม

แต่สำหรับคาฟลาโอเวด องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลหลายกรณี รู้คำตอบอยู่แล้วว่าเหตุใดแรงงานไทยจึงถูกเอารัดเอาเปรียบ

โซฟี ชานนีร์ แห่งองค์กรคาฟลาโอเวด

โซฟี ชานนีร์ แห่งองค์กรคาฟลาโอเวด

"ฉันคิดว่านายจ้างอิสราเอลไม่ได้มองแรงงานไทยว่าเป็นคนที่มาทำงาน แต่มองว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ทำงานเกษตร หากแรงงานคนหนึ่งไม่สบายก็ผลัดเอาอีกคนมาทำงานในสภาพที่อันตราย และมีกรณีการเสียชีวิต ก็แทบจะไม่มีใครใส่ใจจะค้นหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น" โซฟี ชานนีร์ บอก

"นายจ้างไม่ได้มองว่าแรงงานเป็นมนุษย์ที่มีความต้องการ เป็นคนที่อาจได้รับอันตราย ราวกับว่าไม่มีใครห่วงใยคนเหล่านี้มากพอ"

ความตายของวิชา

แรงงานไทยในอิสราเอลมีความรู้สึกร่วมว่าไม่มีใครห่วงใยความเป็นความตายของพวกเขา

วิชา ดวงดีแก้ว แรงงานไทยวัย 45 ปี ทำงานปลูกผักที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในโมชาฟใกล้เทลอาวีฟ เข้านอนเมื่อคืนวันที่ 9 ตุลาคม 2017 แล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย

คำบาน (สงวนนามสกุล) เพื่อนแรงงานที่นอนอยู่ในห้องพักเดียวกันเป็นคนแรกที่พบศพวิชาตอนที่ปลุกเรียกเพื่อนให้ไปทำงาน แต่วิชาไม่ตื่นขึ้นมาอย่างเคย คำบานวิ่งไปเรียก ทัด ศิริคาม แรงงานอีกคนที่พักอยู่ห้องติดกันมาช่วยปลุก

ทัดเล่าว่าตอนนั้นวิชาตัวแข็งทื่อ หัวเข่างอ ตาขาวเบิกโพลงแล้ว เขารีบโทรศัพท์ไปเรียกนายจ้างให้มาดู ภรรยานายจ้างช่วยปั๊มหัวใจให้วิชาอยู่ร่วม 20 นาที แต่ไม่เป็นผล จากนั้นหน่วยกู้ภัย ตำรวจเข้ามาดูเหตุการณ์และมีรถพยาบาลมารับศพวิชาไป

เพื่อนของวิชานำศพเขาออกจากที่พัก

เพื่อนของวิชานำศพเขาออกจากที่พัก

หลังการเสียชีวิต สถานทูตไทยนำพระสงฆ์จากภาคอีสานเดินทางมาทำพิธีทางศาสนา ขณะที่เพื่อน ๆ ช่วยกันนำข้าวของของวิชามาเผา และร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้

บีบีซีได้เห็นใบมรณบัตรของวิชาที่ส่งมาพร้อมศพระบุว่า “ไม่ทราบสาเหตุ”

ใบมรณบัตรของวิชา

ใบมรณบัตรของวิชา

วิชาไม่ใช่แรงงานคนเดียวที่เสียชีวิตในอิสราเอล เพราะนับตั้งแต่เริ่มโครงการทีไอซีเมื่อปี 2012 มีแรงงานไทยเสียชีวิตไปแล้ว 172 คน (นับถึงเดือนพฤศจิกายน 2018) บางคนเสียชีวิตเพราะเจ็บป่วย บ้างก็ฆ่าตัวตาย และจำนวนมากที่เสียชีวิตในลักษณะเดียวกับวิชาคือไม่ทราบสาเหตุ

ฉันนำเรื่องนี้ไปสอบถามสถานทูตไทยในเทลอาวีฟว่าทำไมจึงไม่มีใครสืบสวนเรื่องการเสียชีวิต

เพื่อนของวิชาช่วยกันเผาข้าวของเครื่องใช้ของเขา

เพื่อนของวิชาช่วยกันเผาข้าวของเครื่องใช้ของเขา

นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานทูตไทยในอิสราเอล บอกตอนที่ฉันไปสัมภาษณ์ที่สถานทูตไทยว่ามีเหตุผลหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือทางการอิสราเอลจะไม่สืบสวนหากไม่เห็นว่าเป็นการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ

ภาระจึงตกอยู่กับครอบครัวของผู้เสียชีวิต หากต้องการผ่าพิสูจน์ศพก็อาจจะรับภาระค่าใช้จ่ายราว 40,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ต้องการเพราะไม่สามารถรับภาระได้ หลังจากได้สูญสิ้นกำลังหลักของครอบครัวไปแล้ว

ฝันสลาย

ที่เมืองไทย พนิดา ดวงดีแก้ว ภรรยาของวิชา ยอมรับว่าขาดเสาหลักที่เคยเลี้ยงดูพ่อที่แก่ชราและเธอที่กำลังป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ แต่เชื่อว่าจะกัดฟันทน และดูแลตัวเองไปได้ ขณะนี้เธอยังรู้สึกโศกเศร้าและเสียใจที่วิชาไม่อาจทำตามความฝันที่วาดไว้ก่อนเดินทางไปทำงานที่อิสราเอลได้

พนิดา ดวงดีแก้ว

พนิดา ดวงดีแก้ว

เธอบอกว่า “เขาอยากได้ที่ดินข้างบ้านนี่ เขาบอกว่าเมื่อกลับมาจากอิสราเอล จะมาชวนพี่ทำสวน ทำอย่างที่เขาทำที่นู่นทำฟาร์มของตัวเอง ไม่ต้องไปรับจ้างใครทำอีกแล้ว พ่อพี่เองก็เป็นชาวนาเขาก็รอลูกเขยกลับมา จะได้มาทำสวนทำนาด้วยกัน” พนิดาซึ่งต้องตกพุ่มม่ายในวัย 45 ปีปาดน้ำตาแห่งความปวดร้าว

“ตอนที่เห็นศพแฟนเรา...มันรู้สึกเหมือนฝัน...ก็แค่อยากจะบอกให้เขารับรู้ว่าเราได้จัดงานศพให้เขาแล้วนะเขามาถึงบ้านแล้ว ไม่ต้องห่วงอะไรอีกแล้ว ห่วงพ่อก็ไม่ต้องห่วง ห่วงพี่ก็ไม่ต้องห่วง...อยากให้เขาไปให้สบาย”

เครดิต
---
เรื่อง : อิสสริยา พรายทองแย้ม

ภาพ : เก็ตตี้อิมเมจ
แอนดรูว์ บราวน์
จามิล คาดามานี
จิราพร คูหากาญจน์
อิสสริยา พรายทองแย้ม

ผู้สื่อข่าวในไทย : ธันยพร บัวทอง

กราฟิก: เดวีส์ สุริยา

ภาพทุกภาพมีลิขสิทธิ์