วันจันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 02:15 น.

ภูมิภาค

ชลประทานบูรณาการจัดการน้ำเมืองภูเก็ตรับเมืองท่องเที่ยว

วันอังคาร ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2564, 19.17 น.

ชลประทานบูรณาการแผนบริหารจัดการน้ำเมืองภูเก็ตทั้งระบบรับเมืองท่องเที่ยว

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าโครงการชลประทาน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน ประกอบด้วย  โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง 3 โครงการ ความจุรวม 21.72 ล้าน ลบ.ม. และโครงการชลประทานขนาดเล็กทั้งหมด 102 โครงการ มีความจุรวมประมาณ 6.35 ล้าน ลบ.ม.

โครงการชลประทานขนาดกลางที่จะต้องปรับปรุงประกอบด้วย 1.อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ความจุ 7.20  ล้าน ลบ.ม 2.อ่างเก็บน้ำบางวาด  ความจุ 10.20 ล้าน ลบ.ม. และ 3.อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ ความจุ 4.32 ล้าน ลบ.ม. ทั้ง 3 อ่างนี้เพื่อใช้ผลิตน้ำประปา

ปัจจุบันความต้องการใช้น้ำของภูเก็ตมีประมาณ 76.91 ล้าน ลบ.ม./ปี  แบ่งเป็น 1.เพื่อการอุปโภค-บริโภค 38.01 ล้าน ลบ.ม./ปี 2.การท่องเที่ยว 20.00 ล้าน ลบ.ม./ปี 3.การอุตสาหกรรม 4.51 ล้าน ลบ.ม./ปี 4.การเกษตรกรรม 11.27 ล้าน ลบ.ม./ปี และ 5.การรักษาระบบนิเวศวิทยาท้ายน้ำ 3.12 ล้าน ลบ.ม./ปี

สำหรับแหล่งน้ำต้นทุนของจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย 1.อ่างเก็บน้ำความจุ 21.72 ล้าน ลบ.ม.  น้ำใช้การได้ 27 ล้าน ลบ.ม./ปี 2.ขุมเหมืองความจุ 21.03 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การได้ 16 ล้าน ลบ.ม./ปี  3.น้ำทะเล น้ำใช้การได้ 4 ล้าน ลบ.ม./ปี 4.น้ำท่าจากคลองธรรมชาติ 676 ล้าน ลบ.ม./ปี น้ำใช้การได้ 8 ล้าน ลบ.ม./ปี และ 5.น้ำบาดาลที่มีศักยภาพการพัฒนา 72 ล้าน ลบ.ม./ปี

ส่วนความต้องการใช้น้ำในอนาคตนั้น ประมาณการไว้ว่า ในปี 2565 ความต้องการจะมีราว 76.91 ล้าน ลบ.ม./ปี   ปี 2570 จะเพิ่มเป็น 98 ล้าน ลบ.ม./ปี และ ปี2580 จำนวน 120 ลบ.ม./ปี 

ในส่วนของการผลิตน้ำประปานั้นภูเก็ตมีกำลังการผลิตสูงถึง 75 ลบ.ม./ปี แต่มีปริมาณน้ำต้นทุนให้ผลิตน้ำประปาที่ 60 ลบ.ม./ปี แนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำตามศักยภาพและความเหมาะสมจะมีทั้ง 1.เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งเก็บกักน้ำและเพิ่มศักยภาพการจ่ายน้ำของแหล่งน้ำ เช่นการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำ/ขุมน้ำ และการขุดลอกแหล่งน้ำ 2.เพิ่มปริมาณการสูบใช้น้ำจากน้ำท่าให้มากขึ้น เช่น การสร้างสถานีสูบน้ำเพิ่ม  ทั้งเพื่อการนำน้ำไปใช้โดยตรงและการสูบเก็บสำรองในแหล่งน้ำ 3.ส่งเสริมเอกชนผลิตขายน้ำประปาให้รัฐในระยะยาว 4.บริหารจัดการน้ำโดยในฤดูฝนมุ่งเน้นให้ใช้น้ำท่าเป็นหลักและเก็บสำรองน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงแล้ง

นอกจากนี้ยังมีแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 23 โครงการ  ประกอบด้วย  แผนงานระยะสั้น (ปี 2566–2570)18 โครงการ  แผนงานระยะกลาง(ปี 2571–2580) 4 โครงการ  และแผนงานระยะยาว(ตั้งแต่ปี 2580 ไป) 1 โครงการ  และโครงการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยอยู่ในแผนระยะสั้น 5 โครงการ 

นายเฉลิมเกียรติเปิดเผยด้วยว่า นอกจากนี้ยังมี โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย จังหวัดภูเก็ต  แบ่งเป็น โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ  โครงการสระน้ำแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับแก้ไขปัญหาความต้องการใช้น้ำอุปโภคบริโภค เสริมความมั่นคงด้านแหล่งน้ำช่วย สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต สนับสนุนการท่องเที่ยวภูเก็ตตามโครงการ Area Based

ส่วนโครงการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำคลองถลางนั้น จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมฉับพลันบริเวณพื้นที่ผ่านตัวเมืองถลางในเขตเทศบาลตำบลเทพกระษัตรีบริเวณบ้านดอนที่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และน้ำหลากล้นตลิ่งตามริมลำน้ำตอนท้ายเทศบาลเมืองถลาง  ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชนในเขตลุ่มน้ำคลองถลางให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดภูเก็ตและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

หน้าแรก » ภูมิภาค