อาการ สาเหตุ การรักษาไข้หวัด ตามฤดูกาล - Common Cold: Symptoms, Cause, Diagnosis and Treatment

ไข้หวัด ตามฤดูกาล (Common Cold)

โรคไข้หวัด คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่ติดต่อกันได้ง่าย เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดจะเป็นเชื้อไรโนไวรัส โดยเฉลี่ยแล้วผู้ใหญ่อาจป่วยเป็นไข้หวัด 2-3 ครั้งต่อปี

แชร์

ไข้หวัด ตามฤดูกาล

โรคไข้หวัด คือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่ติดต่อกันได้ง่าย เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดจะเป็นเชื้อไรโนไวรัส โดยเฉลี่ยแล้วผู้ใหญ่อาจป่วยเป็นไข้หวัด 2 - 3 ครั้งต่อปี ในขณะที่เด็กอาจป่วยมากกว่า 4 ครั้งต่อปี

อาการของไข้หวัด

  • ระยะที่ 1 (วันที่ 1-3)
    หลังจากสัมผัสเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะเริ่มระคายคอ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ และเสียงแหบ
  • ระยะที่  2 (วันที่ 4-7)
    อาการแย่ลง พร้อมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดตัว อ่อนเพลีย ตาแฉะ มีไข้ต่ำ ๆ
  • ระยะที่ 3 (วันที่ 8-10)
    อาการเริ่มดีขึ้น แต่อาจจะยังมีอาการไอหลงเหลืออยู่ ซึ่งอาการไอเกิดได้ตามหลังการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจนานถึง 2 เดือนอย่างไรก็ดี หากอาการไม่ดีขึ้นและไข้กลับมาอีก ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเนื่องจากอาจจะเกิดจากภาวะแทรกซ้อน เช่น เป็นโรคไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือปอดบวม เป็นต้น

อาการไข้หวัดในเด็กเล็ก

เมื่อเป็นไข้หวัด เด็กเล็กมักจะมีน้ำมูกใส เหลืองหรือเขียว จาม ไอ มีไข้ (38.3 - 38.9 องศาเซลเซียส) ต่อมน้ำเหลืองโต น้ำลายไหล เบื่ออาหารจากอาการเจ็บคอและกลืนลำบาก เด็ก ๆ อาจงอแงเนื่องจากรู้สึกไม่สบายตัว

Shutterstock 2102231185 0

ควรพบแพทย์เมื่อไร

สำหรับผู้ใหญ่ แนะนำให้พบแพทย์หากมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียสนานเกิน 3 วัน
  • กลับมามีไข้สูงอีกครั้งหลังที่ไข้ลดลงแล้ว
  • หายใจหอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด เจ็บคอมาก ปวดศีรษะ ปวดไซนัส

สำหรับเด็ก ควรไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการดังต่อไปนี้

  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน ร่วมกับอาการมีไข้
  • ไข้สูงกว่าเดิมและมีไข้นานมากกว่า 2 วัน
  • ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดหูรุนแรง
  • ไอมากกว่า 3 สัปดาห์
  • ง่วงนอน งอแงมากกว่าปกติ
  • เบื่ออาหาร ซึ่งอาจเกิดภาวะขาดน้ำ
  • จมูกบานขณะหายใจ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของอาการหายใจลำบาก
  • ซี่โครงบานเวลาหายใจ
  • หายใจมีเสียงหวีด หายใจเร็ว
  • ปากซีด

สาเหตุโรคไข้หวัด

เชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ นั้นอาจก่อให้เกิดอาการของโรคไข้หวัดได้ แต่ไรโนไวรัสเป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุหลักของโรคไข้หวัดที่พบได้บ่อย เฉพาะไรโนไวรัสชนิดเดียวก็มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ เมื่อติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสสายพันธุ์นั้น ๆ แต่ยังมีอีกหลายสายพันธุ์ที่ร่างกายของคนเราไม่มีภูมิคุ้มกัน จึงทำให้เราเป็นไข้หวัดกันได้บ่อย ๆ

  • การสัมผัสโดยตรง
    การสัมผัสโดยตรงเป็นวิธีติดเชื้อหลักของโรคไข้หวัด ผู้ป่วยโรคไข้หวัดมักจะมีเชื้อไวรัสปนเปื้อนติดอยู่ที่มือ ซึ่งเชื้อดังกล่าวมีชีวิตอยู่ได้ถึง 2 ชั่วโมง หากไปสัมผัสมือผู้ป่วย แล้วนำมือนั้นมาสัมผัสหน้าของตนเอง เชื้ออาจหลุดเข้าไปในร่างกาย ทำให้ติดเชื้อไข้หวัดได้
  • การสัมผัสกับพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อ
    ไวรัสโรคไข้หวัดสามารถมีชีวิตอยู่พื้นผิว เช่น หน้าเคาน์เตอร์ ลูกบิดประตู หรือโทรศัพท์ ได้นานหลายชั่วโมง หากสัมผัสพื้นผิวดังกล่าวแล้วนำมาสัมผัสตา จมูก หรือปากตนเอง ก็อาจทำให้ติดเชื้อได้
  • การสูดละอองฝอยที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส
    ผู้ป่วยอาจจะไอจามละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสออกมาทางอากาศ ผู้ที่อยู่ใกล้อาจสัมผัสละอองฝอยดังกล่าว ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางตา จมูก หรือปาก หากผู้ป่วยปิดปากขณะไอหรือจามก็จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้
    เชื้อไวรัสโรคไข้หวัดนั้นไม่ติดต่อกันผ่านทางน้ำลาย โรคไข้หวัดจึงไม่ติดต่อกันผ่านการจูบ แต่ถ้าหากอยู่ใกล้ผู้ป่วยก็อาจติดเชื้อจากการสูดละอองฝอยได้ นอกจากนี้โรคไข้หวัดไม่ได้เกิดจากอากาศที่หนาวเย็นแต่เชื้อไวรัสบางชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคอาจจะเติบโตได้ดีในบางฤดู เช่น ฤดูหนาว

การตรวจวินิจฉัยโรคไข้หวัด

  • การซักประวัติและตรวจร่างกาย แพทย์จะทำการตรวจโพรงจมูก คอ ปอด และต่อมน้ำเหลืองที่คอเพื่อดูว่ามีอาการบวม แดง หรืออักเสบหรือไม่
  • การสวอบหรือเก็บตัวอย่างจากบริเวณหลังโพรงจมูก
    หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจติดเชื้อโควิด ไข้หวัดใหญ่ หรือเชื้ออื่น ๆ แพทย์อาจทำการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก
  • การเอกซ์เรย์ปอด
    วิธีนี้จะช่วยประเมินว่าปอดบวมหรือหลอดลมอักเสบหรือไม่

Common Clod Banner 3

การรักษาไข้หวัด

วิธีรักษาไขัหวัด โดยปกติแล้ว อาการของโรคไข้หวัดจะดีขึ้นภายใน 7 - 10 วัน โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ แต่ผู้ป่วยอาจจะยังไอต่ออีก 2 - 3 วัน ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคไข้หวัด ผู้ป่วยควรจะพักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเพื่อบรรเทาอาการ ไม่ควรรับประทานยาปฏิชีวนะเนื่องจากเป็นยาสำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัส  

ยาแก้ปวด

  • การทานยาแก้ปวดสำหรับผู้ใหญ่ สามารถรับประทานยาพาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน ช่วยบรรเทาอาการไม่สบายตัวจากไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอได้
  • การทานยาแก้ปวดสำหรับเด็ก การใช้ยาพาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ดังนี้
    • ห้ามซื้อยาจากร้านขายยาให้ทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือนรับประทาน ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่เหมาะสม
    • ไม่ควรให้ทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือนรับประทานยาไอบูโพรเฟนหากทารกอาเจียนบ่อย
    • ห้ามใช้ยาแอสไพรินในเด็กหรือวัยรุ่น เนื่องจากพบความเกี่ยวข้องของการใช้ยาแอสไพรินในเด็กกับวัยรุ่นที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่กับโรคอีสุกอีใสกับกลุ่มอาการเรย์ (Reye's syndrome) ซึ่งส่งผลต่อสมองและตับ โดยกลุ่มอาการเรย์เป็นกลุ่มอาการที่พบได้น้อยมากแต่อันตรายถึงชีวิต
    • ควรอ่านเอกสารกำกับยาหรือปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพื่อป้องกันการใช้ยาเกินขนาด และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

ยาแก้คัดจมูก

  • ยาแก้คัดจมูกสำหรับผู้ใหญ่ สามารถใช้ยาแก้คัดจมูกแบบยาหยอดหรือยาพ่นได้นาน 5 วัน ไม่ควรใช้นานกว่านี้เพราะอาจทำให้อาการกลับมาอีกได้
  • ยาแก้คัดจมูกสำหรับเด็ก อายุต่ำกว่า 6 ปี ไม่ควรใช้ยาแก้คัดจมูก เด็กอายุมากกว่า 6 ปีจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

ยาแก้ไอ

  • ยาแก้ไอสำหรับผู้ใหญ่ ควรอ่านเอกสารกำกับยาก่อนใช้เพื่อป้องกันการใช้ยาเกินขนาด ยาน้ำแก้ไอบางชนิดอาจมีตัวยาสำคัญเดียวกับยาแก้ปวดหรือยาแก้คัดจมูก การใช้ยาพร้อมกันอาจทำให้ได้รับยาเกินขนาด
  • ยาแก้ไอสำหรับเด็ก ไม่ควรรับประทานยาแก้ไอเนื่องจากอาจรับประทานยาเกินขนาดได้

Common Clod Banner 4

การดูแลตัวเองที่บ้าน เมื่อเป็นไข้หวัด

  • พักผ่อนอยู่ที่บ้านจนกว่าจะไม่มีไข้หรือไอ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยอาจดื่มน้ำเปล่า น้ำผลไม้ น้ำอุ่นผสมมะนาว หรือรับประทานซุปใส หลีกเลี่ยงดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ซึ่งจะไปกระตุ้นให้ร่างกายขับน้ำออกเร็วขึ้น ทำให้ร่างกายขาดน้ำ
  • ดื่มน้ำอุ่นเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอและอาการคัดจมูก โดยอาจเติมน้ำผึ้งเพื่อบรรเทาอาการไอได้ แต่ห้ามให้เด็กต่ำกว่า 1 ปีรับประทานน้ำผึ้งเนื่องจากอาจก่อให้เกิดโรคโบทูลิซึมในทารก  
  • หากอากาศแห้ง เปิดเครื่องทำความชื้นในอากาศเพื่อช่วยบรรเทาอาการไอและคัดจมูก แต่ควรหมั่นทำความสะอาดตัวเครื่องอยู่เสมอเพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
  • กลั้วคอด้วยน้ำเกลือเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ แต่ไม่แนะนำในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีเพราะอาจยังกลั้วคอไม่เป็น
  • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเพื่อลดอาการคัดจมูกและทำให้โพรงจมูกชุ่มชื่นขึ้น
  • ใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกในโพรงจมูกเด็กทารกหรือเด็กเล็ก ก่อนดูดควรหยดน้ำเกลือในโพรงจมูกเพื่อให้น้ำมูกไม่เหนียวข้นจนเกินไป
  • อมน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ หรือยาอมแก้เจ็บคอเพื่อบรรเทาอาการ แต่ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีอมยาอมแก้เจ็บคอ เพราะอาจติดคอได้

การเตรียมตัวก่อนไปพบแพทย์

  • จดอาการที่มีทั้งหมด
  • จดรายชื่อยาและอาหารเสริมที่รับประทาน
  • ขียนคำถามที่ต้องการถามแพทย์เตรียมไว้

ตัวอย่างคำถาม เช่น

  • สาเหตุของโรคคืออะไร
  • จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจอะไรเพิ่มเติมหรือไม่
  • คุณหมอแนะนำให้รักษาด้วยวิธีใด
  • เมื่อไรอาการจะดีขึ้นหรือหายดี
  • สามารถกลับไปเรียนหรือไปทำงานได้เมื่อไร
  • หากมีโรคประจำตัวอยู่ ควรทำอย่างไร

ไข้หวัด ตามฤดู Common Cold Infographic - Th

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 13 ส.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. วิลาวัณย์ เวทไว

    พญ. วิลาวัณย์ เวทไว

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน (ทางคลินิก)
    โรคหอบหืดและไอเรื้อรัง, โรคภูมิแพ้ในเด็กและผู้ใหญ่, แพ้อาหาร, ผิวหนังอักเสบผื่นคัน
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    รศ.นพ. ฮิโรชิ จันทาภากุล

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน (ทางคลินิก)
    อายุรกรรมทั่วไป, โรคภูมิแพ้, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคแพ้ภูมิตัวเอง
  • Link to doctor
    นพ. สุทธิชัย โชคกิจชัย

    นพ. สุทธิชัย โชคกิจชัย

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน (ทางคลินิก)
    โรคภูมิแพ้, เวชศาสตร์ป้องกัน